GRAND SEIKO
ภาพรวมหัวข้อเนื้อหา
- 1 Specification
- 2 สรุปรวมงานสร้างสรรค์จาก ค.ศ.2020 หลักปีที่ 60 ของ Grand Seiko
- 2.1 SBGA เครื่อง Spring Drive ชนิดขึ้นลานอัตโนมัติ 9R65
- 2.2 SBGC เครื่อง Spring Drive ชนิดขึ้นลานอัตโนมัติฟังก์ชั่นโครโนกราฟและ GMT 9R96
- 2.3 SBGD เครื่อง Spring Drive ชนิดขึ้นลานด้วยมือ 9R01
- 2.4 SBGE เครื่อง Spring Drive ชนิดขึ้นลานอัตโนมัติฟังก์ชั่น GMT 9R66
- 2.5 SBGH เครื่องจักรกลชนิดขึ้นลานอัตโนมัติ Hi-beat ความถี่สูง 9S85
- 2.6 SBGJ เครื่องจักรกลชนิดขึ้นลานอัตโนมัติ Hi-beat ความถี่สูง ฟังก์ชั่น GMT 9S86
- 2.7 SBGK เครื่องจักรกลชนิดขึ้นลานด้วยมือ 9S63
- 2.8 SBGM เครื่องจักรกลชนิดขึ้นลานอัตโนมัติฟังก์ชั่น GMT 9S66
- 2.9 SBGN เครื่องควอตซ์ฟังก์ชั่น GMT 9F86
- 2.10 SBGP เครื่องควอตซ์ 9F85
- 2.11 SBGR เครื่องจักรกลชนิดขึ้นลานอัตโนมัติ 9S65
- 2.12 SBGW เครื่องจักรกลชนิดขึ้นลานด้วยมือ 9S64
- 2.13 SBGX เครื่องควอตซ์ 9F61
- 2.14 SBGY เครื่อง Spring Drive ชนิดขึ้นลานด้วยมือ 9R31
- 2.15 SBGZ เครื่อง Spring Drive ชนิดขึ้นลานด้วยมือ 9R02
Specification

TABS CONTENTS
สรุปรวมงานสร้างสรรค์จาก ค.ศ.2020 หลักปีที่ 60 ของ Grand Seiko
ศักราช 2020 ที่เพิ่งผ่านล่วงมา คือปีที่ 60 นับจากนาฬิกาแบบแรกของ Grand Seiko (แกรนด์ ไซโก) ถือกำเนิดขึ้นมา ณ วันที่ 18 ธันวาคม ค.ศ.1960 ซึ่งตามวัฒนธรรมของชาวญี่ปุ่นนั้น เลขปีที่ 60 ถือเป็นปีพิเศษเพราะเป็นหลักปีที่สื่อถึงการมีอายุยืนยาว ธรรมเนียมการฉลองนี้เรียกว่า ‘คันเรกิ’ ซึ่งหมายถึงการเวียนมาบรรจบของปีนักษัตรที่เป็นปีเกิดของตนเองหลังจากอายุครบ 60 ปี
TABLE OF CONTENTS
สรุปรวมงานสร้างสรรค์จาก ค.ศ.2020 หลักปีที่ 60 ของ Grand Seiko
ศักราช 2020 ที่เพิ่งผ่านล่วงมา คือปีที่ 60 นับจากนาฬิกาแบบแรกของ Grand Seiko (แกรนด์ ไซโก) ถือกำเนิดขึ้นมา ณ วันที่ 18 ธันวาคม ค.ศ.1960 ซึ่งตามวัฒนธรรมของชาวญี่ปุ่นนั้น เลขปีที่ 60 ถือเป็นปีพิเศษเพราะเป็นหลักปีที่สื่อถึงการมีอายุยืนยาว ธรรมเนียมการฉลองนี้เรียกว่า ‘คันเรกิ’ ซึ่งหมายถึงการเวียนมาบรรจบของปีนักษัตรที่เป็นปีเกิดของตนเองหลังจากอายุครบ 60 ปี
การฉลอง 60 ปีที่ Grand Seiko เลือกกระทำก็คือ การสร้างสรรค์ผลงานชิ้นเด่นออกมามากมายโดยนับจำนวนรวมได้ถึง 18 ซีรี่ส์นาฬิกา 18 คาลิเบรอกลไก โดยมีรูปแบบแยกย่อยต่างกันถึง 61 รุ่นและในจำนวนเหล่านี้มีสถานะเป็นนาฬิการุ่นพิเศษที่ผลิตขึ้นแบบ ลิมิเต็ด เอดิชัน ถึง 36 รุ่นด้วยกันซึ่งก็มีทั้งรุ่นให้ฐานะเป็นนาฬิกาฉลอง 60 ปี ที่เรียกว่า ‘60th Anniversary Limited Edition’ (ซิกซ์ตีธ์ แอนนิเวอร์ซารี ลิมิเต็ด เอดิชั่น) และรุ่นที่มีฐานะเป็นนาฬิกาเอดิชั่นพิเศษสำหรับโอกาสอื่น ๆ อาทิ ประเทศ ตัวแทนจำหน่าย หรือผู้แทนจำหน่าย เป็นต้น อีกทั้งนาฬิการุ่นใหม่เหล่านี้ก็มีหลายรุ่นที่ใช้เครื่องคาลิเบรอใหม่ ๆ ซึ่ง Grand Seiko ใช้โอกาสปีที่ 60 ของตนเปิดตัวออกสู่โลกนาฬิกาด้วย
เครื่องคาลิเบรอใหม่ที่ว่านี้ ได้แก่ เครื่องระบบ ‘Spring Drive’ (สปริง ไดรฟ์) ขึ้นลานอัตโนมัติ Cal.9RA5 ที่เด่นด้วยขนาดเครื่องอันเพรียวบางแต่มอบระยะการสำรองพลังงานได้นานถึง 5 วันและมีอัตราความเที่ยงตรงสูงกว่าเดิม เครื่องระบบจักรกลขึ้นลานอัตโนมัติชนิด ‘Hi-beat’ (ไฮบีท) ความถี่การทำงานสูง 36,000 ครั้ง/ชั่วโมง สำรองพลังงานได้ถึง 80 ชั่วโมง Cal.9SA5 ซึ่งใช้ระบบปล่อยจักรแบบใหม่ที่เรียกว่า ‘Dual Impulse’ (ดูอัล อิมพัลส์) และกลไกควอตซ์ Cal.9F85 ที่สามารถปรับตั้งเข็มชั่วโมงได้อย่างอิสระเพื่อเพิ่มความสะดวกในการใช้งาน ซึ่งการนำเสนอเครื่องคาลิเบรอใหม่พร้อมกันถึง 3 รูปแบบเช่นนี้ เป็นความน่าทึ่งซึ่งยากจะเกิดขึ้นได้ในวงการ หากแต่ Grand Seiko สามารถกระทำได้เพราะมีความพรั่งพร้อมในทุกด้าน ทั้งเทคโนโลยีการผลิต โรงงาน และบุคลากร นอกจากนี้ยังมีการนำเสนอความก้าวหน้าในการพัฒนากลไกนาฬิการะดับสูงสู่สายตาชาวโลกด้วยเครื่องคาลิเบรอต้นแบบที่มอบความเที่ยงตรงด้วยกลไกทูร์บิญองระบบคอนสแตนท์-ฟอร์ซ
SBGA เครื่อง Spring Drive ชนิดขึ้นลานอัตโนมัติ 9R65
นาฬิกาซีรี่ส์ SBGA เครื่อง Spring Drive ชนิดขึ้นลานอัตโนมัติ พลังงานสำรอง 72 ชั่วโมง Cal.9R65 เปิดตัวออกมาเพิ่มเติมในปีนี้ถึง 9 รุ่นด้วยกัน แบ่งเป็นนาฬิกาลิมิเต็ดเอดิชั่นผลิตจำนวนจำกัด 7 รุ่น และนาฬิการุ่นพิเศษสำหรับตลาดอเมริกันอีก 2 รุ่น ดังต่อไปนี้
- SBGA421 ผลิตเพื่อ AJHH (สมาคมเครื่องบอกเวลาระดับสูงแห่งประเทศญี่ปุ่น) ด้วยจำนวนจำกัด 390 เรือนสำหรับตลาดญี่ปุ่นโดยเฉพาะ ใช้หน้าปัดแบบเกล็ดหิมะ สัญลักษณ์ GS สีทอง และใช้สีแดงกับเข็มวินาที เข็มบอกพลังงานสำรอง ข้อความ Spring Drive บนหน้าปัด เส้นวงแหวนรอบหน้าปัด และฝาหลัง จับคู่มากับสายสเตนเลสสตีลพร้อมสายหนังจระเข้สีน้ำเงินให้สลับใช้งาน
- SBGA423 รุ่นผลิตจำนวนจำกัดสำหรับวาระครบ 20 ปีของห้าง เจอาร์ นาโกยา ทาคาชิมายา ใช้สีทองกับสัญลักษณ์ GS และเข็มวินาที ขณะที่เข็มบอกพลังงานสำรองใช้เป็นสีแดง
- SBGA425 ผลิตสำหรับจำหน่ายเฉพาะร้านที่อยู่ในเขตกินซาของกรุงโตเกียว ด้วยจำนวนจำกัด 205 เรือน หน้าปัดสีน้ำตาลบนผิวลายแผงคอสิงโต หลักชั่วโมงกับเข็มเป็นทองกุหลาบ
- SBGA431 สำหรับตลาดประเทศจีน ผลิตจำนวนจำกัด 181 เรือน หน้าปัดสีขาวบนผิวลายแผงคอสิงโต เข็มวินาทีสีแดง
- SBGA432 รุ่นสำหรับจำหน่ายเฉพาะที่ห้าง นิฮอนบาชิ มิตสุโคชิ ผลิตจำนวนจำกัด 23 เรือน หน้าปัดสีดำ วงขอบตัวเรือน เข็ม และหลักชั่วโมงเลขอารบิก เป็นทองคำ
- SBGA433 สำหรับตลาดประเทศจีน ผลิตจำนวนจำกัด 222 เรือน มากับหน้าปัดสีน้ำเงินบนผิวลายแผงคอสิงโตและใช้ตราสัญลักษณ์ GS เข็มวินาที และเข็มกับมาตรบอกพลังงานสำรองเป็นทอง
- SBGA435 สำหรับตลาดประเทศจีน ผลิตจำนวนจำกัด 222 เรือน มากับหน้าปัดสีฟ้าบนผิวลายแผงคอสิงโตและใช้ทองกุหลาบกับตราสัญลักษณ์ GS และเข็มวินาที
- SBGA427 หน้าปัดสีเงิน เข็มวินาทีและเข็มบอกพลังงานสีเขียวเข้ม และ SBGA429 หน้าปัดสีเทาเข้ม เข็มวินาทีและเข็มบอกพลังงานสีเขียวอ่อน 2 รุ่นพิเศษสำหรับตลาดสหรัฐฯ โดยเฉพาะ มีชื่อเรียกว่า ‘Soko U.S. Special Edition’ (โซโกะ ยูเอส สเปเชียล เอดิชั่น) อันหมายถึงน้ำค้างแข็งที่สื่อถึงช่วงเวลาปลายฤดูใบไม้ร่วงซึ่งจะเกิดน้ำค้างแข็งบนยอดหญ้าในตอนเช้า หน้าปัดของนาฬิกาตัวเรือนสเตนเลสสตีล 2 รุ่นนี้ถูกตกแต่งผิวด้วยการปัดลายเส้นแนวดิ่งซึ่งเมื่อรวมเข้ากับสีเขียวของเข็มแล้วจะเป็นการสื่อถึงสวนป่าไผ่อาราชิยาม่า ในกรุงเกียวโต ทั้ง 2 รุ่นใช้ตัวเรือนสเตนเลสสตีลที่มาพร้อมกับสายสเตนเลสสตีลและสายหนังจระเข้ให้สลับเปลี่ยนใช้งาน
SBGC เครื่อง Spring Drive ชนิดขึ้นลานอัตโนมัติฟังก์ชั่นโครโนกราฟและ GMT 9R96
ผลิตขึ้นมา 2 แบบ คือ SBGC237 ผลิตจำนวนจำกัด 30 เรือน หน้าปัดสีเงิน เข็มและหลักชั่วโมงทอง บนตัวเรือนสเตนเลสสตีลติดตั้งวงขอบตัวเรือนเซรามิกสีดำพร้อมสเกลทาคีมิเตอร์ และรุ่นฉลอง 60 ปี SBGC238 ผลิตจำนวนจำกัด 100 เรือน ตัวเรือนและเข็มจับเวลาเป็นทองกุหลาบ วงขอบหน้าปัดและพื้นหน้าปัดลายแผงคอสิงโตเป็นสีคราม คัตสึ-อิโระ
SBGD เครื่อง Spring Drive ชนิดขึ้นลานด้วยมือ 9R01
SBGD205 รุ่นนี้เป็นนาฬิกาผลิตจำนวนจำกัดในวาระฉลอง 60 ปีจากคอลเล็กชั่น ‘Masterpiece’ (มาสเตอร์พีซ) ที่มากับตัวเรือนแพลทินัมพร้อมหน้าปัดทองขาวที่ตกแต่งอย่างพิถีพิถันให้เกิดประกายดุจเกล็ดน้ำแข็งบนหิมะจากการขัดด้วยเทคนิค ‘Diamond dust’ (ไดมอนด์ ดัสต์) โดยลักษณะการตกแต่งเช่นนี้ได้แรงบันดาลใจมาจากประกายแสงยามรุ่งอรุณที่ทอลงบนหิมะอันขาวโพลนในฤดูหนาวบนทิวเขาของที่ราบสูงชินชูอเนะในจังหวัดนะงะโนะซึ่งมองเห็นได้จากหน้าต่างของโรงงาน Grand Seiko อีกทั้งยังซ่อนลูกเล่นอย่างมีชั้นเชิงด้วยการแฝงตำแหน่งของกลุ่มดาวราศีสิงห์ไว้บนผืนหน้าปัดและเพิ่มความงามเลอค่าด้วยการประดับเพชรทรงเหลี่ยมและทรงกลมบนหน้าปัดแทรกด้วยแซพไฟร์สีน้ำเงินทรงเหลี่ยมและทรงกลมในส่วนของหลักชั่วโมง ส่วนการขับเคลื่อนเป็นหน้าที่ของเครื่อง Spring Drive ขึ้นลานด้วยมือ Cal.9R01 ที่สำรองพลังงานได้นานถึง 8 วันพร้อมเข็มบอกพลังงานบนด้านหลังของตัวเครื่อง
SBGE เครื่อง Spring Drive ชนิดขึ้นลานอัตโนมัติฟังก์ชั่น GMT 9R66
รุ่นใหม่ของคอลเล็กชั่นสปอร์ตในตัวเรือนและสายสเตนเลสสตีล กลไก Spring Drive ขึ้นลานอัตโนมัติฟังก์ชั่น GMT ประกอบด้วยเวอร์ชั่นมาตรฐาน 3 แบบ ได้แก่ SBGE253, SBGE255 และ SBGE257 ซึ่งต่างกันที่สีของวงขอบตัวเรือนเซรามิก หน้าปัด และเข็ม GMT กับอักษร GMT โดยเป็นสีดำเข็มแดง สีน้ำเงินเข็มฟ้า และสีเหลืองเข็มเขียว และรุ่นฉลอง 60 ปีผลิตจำนวนจำกัด 60 เรือน SBGE261 Wako Ginza Limited Edition (วาโก กินซา ลิมิเต็ด เอดิชั่น) ที่มากับหน้าปัดสีน้ำเงินเข้มซึ่งมีแรงบันดาลใจมาจากดอกรินโดในจังหวัดนางาโนอันเป็นสถานที่ตั้งของโรงงานผลิตนาฬิกากลไก Spring Drive ของ Grand Seiko วงขอบหน้าปัดส่วนครึ่งล่าง อักษร GMT และปลายเข็ม GMT เป็นสีแดง ส่วนรุ่นผลิตจำนวนจำกัด 30 เรือน SBGE262 นั้นใช้วงขอบตัวเรือน เข็ม และหลักชั่วโมงทองร่วมกับหน้าปัดสีเงิน โดยมีแผ่นวงแหวนขอบตัวเรือนเป็นพื้นสีดำสลับกับสีขาวอย่างละครึ่งและมีสายหนังให้มาสลับเปลี่ยนใช้งานอีกเส้นหนึ่ง
นอกจากนี้ก็มีรุ่นผลิตจำนวนจำกัด 30 เรือนสำหรับห้างโยโกฮามา ทาคาชิมายา ซึ่งใช้แผ่นวงขอบหน้าปัดเป็นสีน้ำเงินสลับกับสีดำ เข็ม GMT สีน้ำเงิน หน้าปัดสีขาวบนผิวลายแผงคอสิงโต ร่วมด้วยวงขอบหน้าปัดสีน้ำเงินที่ฝั่งครึ่งบน และมอบสายซิลิโคนให้มาเพิ่มอีกเส้นหนึ่ง รุ่นผลิตจำนวนจำกัด 140 เรือนสำหรับ Thong Sia (ธงเซีย) ซึ่งเป็นตัวแทนจำหน่ายในหลายประเทศในเอเชีย ได้แก่ ฮ่องกง สิงคโปร์ มาเลเซีย บรูไน และมาเก๊า โดยใช้หน้าปัดและแผ่นวงแหวนขอบตัวเรือนสีน้ำตาลร่วมกับเข็มและหลักชั่วโมงทอง และรุ่นผลิตจำนวนจำกัด 110 เรือนสำหรับตลาดสหรัฐฯ ที่มากับวงขอบตัวเรือนเซรามิกสีน้ำตาล หน้าปัดสีน้ำตาลลายเส้นเกลียว ร่วมด้วยเข็มกับแนวขอบหน้าปัดฝั่งด้านล่างสีทองโดยรุ่นนี้ถือเป็นรุ่นสำหรับฉลองครบรอบ 10 ปีของการจำหน่ายนาฬิกา Grand Seiko ในสหรัฐฯ
SBGH เครื่องจักรกลชนิดขึ้นลานอัตโนมัติ Hi-beat ความถี่สูง 9S85
รุ่นใหม่ของซีรี่ส์ SBGH นาฬิกาจักรกลขึ้นลานอัตโนมัติ Hi-beat พลังงานสำรอง 55 ชั่วโมงจากคอลเล็กชั่น Heritage (เฮริเทจ) ประกอบด้วย SBGH277 หน้าปัดสีเงิน และ SBGH279 หน้าปัดสีเทาซึ่งบรรจุเป็นคอลเล็กชั่นปกติ และ SBGH281 ซึ่งเป็นเวอร์ชั่นฉลอง 60 ปี ผลิตแบบจำนวนจำกัด 1,500 เรือน ที่เด่นด้วยหน้าปัดสีน้ำเงินร่วมกับเข็มและอักษรสีแดงพร้อมตราสัญลักษณ์ GS สีทองจนได้ฉายาจากแฟน ๆ ว่า ซูเปอร์แมน นอกจากนี้ก็มี SBGH283 นาฬิกาผลิตจำนวนจำกัดเพื่อฉลองให้กับการปรับปรุงสตูดิโอนาฬิกา ชิซูกุอิชิ ซึ่งเสร็จสมบูรณ์และเปิดทำการในปี 2020 นี้โดยถ่ายทอดตัวตนของสตูดิโอผ่านหน้าปัดสีเขียวเข้มผิวลายทางแนวดิ่งที่ได้แรงบันดาลใจมาจากใบไม้เขียวชอุ่มของภูเขาอิวาเตะซึ่งล้อมรอบสตูดิโอแห่งนี้ และเพิ่มความพิเศษด้วยโรเตอร์สีทองพร้อมข้อความ ‘Shizukuishi Limited’ (ชิซูกุอิชิ ลิมิเต็ด) โดยนาฬิการุ่นนี้จะมีจำหน่ายเฉพาะที่สตูดิโอแห่งนี้เท่านั้น
SBGJ เครื่องจักรกลชนิดขึ้นลานอัตโนมัติ Hi-beat ความถี่สูง ฟังก์ชั่น GMT 9S86
รุ่นใหม่ของนาฬิกาเครื่องอัตโนมัติ Hi-beat ฟังก์ชั่น GMT จากคอลเล็กชั่นสปอร์ตซีรี่ส์ SBGJ ประกอบด้วย SBGJ237 และ SBGJ239 ที่มากับวงแหวนขอบตัวเรือนซึ่งสามารถหมุนเพื่อใช้ตั้งค่าแสดงเวลาที่สามได้ ความแตกต่างของ 2 รุ่นนี้อยู่ที่ SBGJ237 ใช้หน้าปัดสีน้ำเงินและแผ่นวงแหวนขอบตัวเรือนเป็นสีน้ำเงินสลับสีขาว หน้าปัดสีน้ำเงิน เข็ม GMT สีขาว และสายสเตนเลสสตีล ส่วน SBGJ239 จะใช้แผ่นวงแหวนเป็นสีเขียวสลับสีขาว หน้าปัดสีเขียว เข็ม GMT สีแดง และสายหนังสีน้ำตาล
นอกจากรุ่นมาตรฐานแล้วก็ยังมีรุ่น SBGJ241 ซึ่งผลิตแบบจำนวนจำกัด 700 เรือนสำหรับจำหน่ายเฉพาะที่บูติกของ Grand Seiko โดยรุ่นนี้จะใช้หน้าปัดสีเขียวบนพื้นลายเส้นแนวดิ่งที่จำแลงรูปแบบมาจากลายบนพื้นไม้ของญี่ปุ่น และ SBGJ247 Wako Limited Edition (วาโก ลิมิเต็ด เอดิชั่น) ผลิตจำนวนจำกัด 60 เรือนที่มากับหน้าปัดสีเขียวบนพื้นลายรัศมี และมีสายหนังมาให้สลับใช้งานเพิ่มมาให้อีกเส้นหนึ่ง
SBGK เครื่องจักรกลชนิดขึ้นลานด้วยมือ 9S63
2 รุ่นพิเศษของซีรี่ส์ SBGK จากคอลเล็กชั่น Elegance (เอเลแกนซ์) นี้สร้างขึ้นเพื่อร่วมฉลองในโอกาสการเปิดบูติก Grand Seiko ที่จัตุรัส Vendôme (วองโดม) ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศสในปี 2020 นี้ โดยรุ่น SBGK011 ใช้ตัวเรือนแพลทินัม ส่วนรุ่น SBGK013 ใช้ตัวเรือนทองกุหลาบ ทั้ง 2 รุ่นมากับหน้าปัดสีเงินผิวลาย “Pavés Parisiens” (ปาเวส์ ปารีเซียงส์) อันเป็นตัวแทนแห่งถนนที่ปูด้วยหินในกรุงปารีส ผลิตจำนวนจำกัดแบบละ 10 เรือนโดยมีจำหน่ายเฉพาะที่บูติก ณ ประเทศฝรั่งเศสแห่งนี้เท่านั้น
SBGM เครื่องจักรกลชนิดขึ้นลานอัตโนมัติฟังก์ชั่น GMT 9S66
2 รุ่นใหม่จากซีรี่ส์ SBGM นาฬิกาเครื่องจักรกลขึ้นลานอัตโนมัติฟังก์ชั่น GMT นี้ถูกสร้างขึ้นเป็นพิเศษสำหรับตัวแทนจำหน่าย 2 แห่ง ได้แก่ รุ่น SBGM239 ผลิตจำนวนจำกัด 500 เรือน สำหรับ Hodinkee (โฮดินกี) ซึ่งใช้หน้าปัดสีน้ำเงินผิวด้านร่วมกับสเกล ตัวเลข และข้อความสีเทา และนาฬิกาเอดิชั่นพิเศษ SBGM241 สำหรับ Watches of Switzerland (ว็อทเชส ออฟ สวิตเซอร์แลนด์) ที่มากับหน้าปัดสีเขียวผิวลายภูเขาอิวาเตะพร้อมตัวเลข ตัวอักษร และเข็มสีทอง
SBGN เครื่องควอตซ์ฟังก์ชั่น GMT 9F86
2 รุ่นใหม่ของซีรี่ส์ SBGN นาฬิกาเครื่องควอตซ์ฟังก์ชั่น GMT จากคอลเล็กชั่น Heritage (เฮริเทจ) ได้แก่ SBGN011 และ SBGN013 ซึ่งมากับคุณสมบัติอันโดดเด่นที่สามารถปรับตั้งเข็มชั่วโมงได้อย่างอิสระโดยไม่ส่งผลต่อการทำงานของเข็มนาทีและเข็มวินาที ทำให้สามารถปรับตั้งเข็มชั่วโมงไปยังเขตเวลาใหม่ได้อย่างสะดวกรวดเร็ว ความแตกต่างของ 2 รุ่นนี้คือ SBGN011 จะใช้หน้าปัดสีแชมเปญร่วมกับเข็ม GMT สีน้ำเงิน ส่วน SBGN013 จะใช้หน้าปัดสีดำร่วมกับเข็ม GMT สีแดง
นอกจากนี้ยังมีรุ่นผลิตจำนวนจำกัดสำหรับผู้แทนจำหน่ายเฉพาะรายออกมาอีก 2 รุ่น คือ SBGN015 หน้าปัดสีฟ้า ปลายเข็ม GMT สีน้ำเงิน ผลิตจำนวน 55 เรือน สำหรับห้าง โซโก ชิบะ และ SBGN017 หน้าปัดสีเงินบนผิวลายเปลือกไม้ เข็ม GMT สีแดง ผลิตจำนวน 56 เรือนสำหรับห้าง อิเซตัน ชินจูกุ โดยทั้ง 2 รุ่นจะมากับวงขอบตัวเรือนชนิดระบุสเกล 24 ชั่วโมง
SBGP เครื่องควอตซ์ 9F85
นาฬิกาซีรี่ส์ใหม่ SBGP ซึ่งเปิดตัวเป็นครั้งแรกในปี 2020 นี้ใช้เครื่องระบบควอตซ์ Cal.9F85 ซึ่งเป็นการการนำเครื่องควอตซ์ฟังก์ชั่น GMT Cal.9F86 มาถอดเข็มชั่วโมงออกเพื่อให้เป็นนาฬิกาฟังก์ชั่นบอกเวลาตามปกติ หากแต่มีคุณสมบัติการปรับตั้งเข็มชั่วโมงได้โดยอิสระติดมาด้วยซึ่งทำให้ใช้งานนาฬิกาในขณะเดินทางไปต่างเขตเวลาได้สะดวกยิ่งขึ้นโดยไม่ต้องเทียบเวลาใหม่ เผยโฉมมาด้วยเวอร์ชั่นมาตรฐาน 3 แบบในคอลเล็กชั่น Heritage (เฮริเทจ) คือ SBGP001 หน้าปัดสีแชมเปญ เข็มวินาทีสีน้ำเงิน SBGP003 หน้าปัดสีดำ และ SBGP005 หน้าปัดสีน้ำเงิน และรุ่นพิเศษฉลอง 60 ปี SBGP007 ผลิตจำนวนจำกัด 2,500 เรือนที่ใช้ตัวเรือนคนละแบบกันและมากับหน้าปัดสีน้ำเงินบนผิวสลักลายตัวเลข 2020 และเข็มวินาทีสีแดงพร้อมประดับชิ้นดาว 5 แฉกสีทองเพื่อบ่งบอกว่าเครื่องที่ใช้กับรุ่นนี้ถูกปรับตั้งอย่างละเอียดให้มีความเที่ยงตรงสูงกว่าปกติ คือ จากไม่เกิน 10 วินาทีต่อปีอันเป็นมาตรฐานสามัญของเครื่องควอตซ์ Grand Seiko ให้เหลือเพียงไม่เกิน 5 วินาทีต่อปีเท่านั้น จากนั้นก็มีเวอร์ชั่นมาตรฐานอีก 3 เวอร์ชั่นตามออกมา คือ SBGP009 หน้าปัดสีแชมเปญ SBGP011 หน้าปัดสีดำ และ SBGP013 หน้าปัดสีน้ำเงินบนตัวเรือนลักษณะเดียวกับ SBGP007
นอกจากนี้ก็มีรุ่นฉลอง 60 ปี SBGP015 ผลิตจำนวนจำกัด 2,000 เรือนซึ่งถูกจัดอยู่ในคอลเล็กชั่นสปอร์ตเพราะใช้ตัวเรือนดีไซน์สปอร์ตที่ดูทะมัดทะแมงและเต็มไปด้วยเหลี่ยมสันคมคายโดยมาพร้อมกับวงขอบตัวเรือนและหน้าปัดสีน้ำเงินร่วมกับเข็มวินาทีสีแดงออกมาอีกรุ่นหนึ่งแต่ใช้เครื่องเวอร์ชั่นปกติร่วมกับตัวเรือนที่สามารถกันน้ำได้ 200 เมตรและป้องกันสนามแม่เหล็กได้สูงถึง 16,000 แอมแปร์/เมตร
SBGR เครื่องจักรกลชนิดขึ้นลานอัตโนมัติ 9S65
SBGR321 เป็นรุ่นใหม่เพียงหนึ่งเดียวในปี 2020 สำหรับตระกูลนาฬิกาเครื่องจักรกลชนิดขึ้นลานอัตโนมัติพลังงานสำรอง 72 ชั่วโมงซีรี่ส์ SBGR โดยมาในฐานะนาฬิกาฉลอง 60 ปีที่ผลิตขึ้นแบบจำนวนจำกัด 2,500 เรือน ในตัวเรือนและสายสเตนเลสสตีลที่เด่นด้วยหน้าปัดสีน้ำเงินและปลายเข็มวินาทีแดง ทั้งยังมีแถบวงแหวนสีแดงล้อมอยู่โดยรอบเหนือแผ่นโรเตอร์ไทเทเนียมทรงกลมฉลุโปร่งดุจลายกงล้อที่ทำให้เป็นสีน้ำเงินสวยงามด้วยกระบวนการออกซิเดชั่นแบบอโนไดซ์อันเป็นการนำโลหะไปผ่านกระบวนการอิเล็กโทรไลติกเพื่อให้เกิดฟิล์มออกไซด์ซึ่งก่อให้เกิดสีตามดัชนีการหักเหของแสงและตามความหนาของชั้นฟิล์ม
SBGW เครื่องจักรกลชนิดขึ้นลานด้วยมือ 9S64
3 รุ่นใหม่ใหม่ของซีรี่ส์ SBGW นาฬิกาเครื่องจักรกลขึ้นลานด้วยมือ สำรองพลังงานได้ 72 ชั่วโมง Cal.9S64 ได้แก่ SBGW257 ตัวเรือนแพลทินัม หน้าปัดสีเงินทำจากทองคำพร้อมหลักชั่วโมงและเข็มทองเคลือบโรเดียม SBGW258 ตัวเรือนทอง หน้าปัดสีขาวนวลพร้อมหลักชั่วโมงและเข็มทอง และ SBGW259 ตัวเรือนบริลเลียนต์ ฮาร์ด ไทเทเนียม หน้าปัดสีน้ำเงิน ถูกสร้างขึ้นเพื่อร่วมฉลอง 60 ปีโดยบรรจุเป็นส่วนหนึ่งในคอลเล็กชั่น ‘Elegance’ (เอเลแกนซ์) ในฐานะเวอร์ชั่นมาตรฐาน จุดเด่นของ SBGW ก็คือ การสร้างขึ้นตามรูปแบบของนาฬิกา Grand Seiko รุ่นแรก จากนั้นจึงตามมาด้วย SBGW260 ตัวเรือนทองกุหลาบ หน้าปัดสีครีมละมุนพร้อมเข็มและหลักชั่วโมงทองกุหลาบที่ผลิตแบบจำนวนจำกัดเพียง 350 เรือนซึ่งมีฐานะเป็นนาฬิกาฉลองวาระปีที่ 140 แห่งการก่อตั้ง Seiko ในปี 2021 โดยรุ่นนี้จะมีความพิเศษอยู่ที่มีชิ้นแผ่นทองสลักเครื่องหมายการค้าดั้งเดิมของ Seikosha (ไซโกฉะ) ที่จดทะเบียนเมื่อปี 1900 ติดตั้งอยู่บนตัวเครื่อง ซึ่งเพิ่งเริ่มจำหน่ายในเดือนมกราคม 2021
นอกจากนี้ยังมีการสร้างซีรี่ส์ SBGW ในตัวเรือนดีไซน์วินเทจอีกลักษณะหนึ่งขึ้นมาอีก ได้แก่ SBGW262 ตัวเรือนทองพร้อมหน้าปัดสีดำที่พิเศษยิ่งเพราะรังสรรค์ด้วยเทคนิคเก่าแก่ที่เรียกว่า อุรุชิ ซึ่งเป็นศิลปะการเคลือบแล็กเกอร์ของญี่ปุ่น ร่วมด้วยหลักชั่วโมงเลขอารบิกสีทอง 4 หลัก พร้อมโลโก้ GS และเข็มทอง ขณะที่หลักชั่วโมงชิ้นอื่นเป็นสีเงิน และ SBGW263 กับ SBGW264 โดย 2 รุ่นหลังนี้มีฐานะเป็นรุ่นฉลอง 60 ปี สำหรับรุ่น SBGW263 ที่ผลิตขึ้นแบบจำนวนจำกัดแค่ 20 เรือนนั้นมากับตัวเรือนแพลทินัมพร้อมหน้าปัดและเข็มทองขาวที่ได้รับการสลักตกแต่งเป็นลวดลายวิจิตรงดงามด้วยมือโดยช่างชั้นครู ส่วน SBGW264 ที่ผลิตขึ้นแบบจำนวนจำกัด 120 เรือนนั้นใช้ตัวเรือนทองกุหลาบร่วมกับหน้าปัดสีเขียวสลักลายต้นซิลเวอร์เบิร์ชอันเป็นพรรณไม้ที่อยู่ล้อมรอบสตูดิโอชิซูกุอิชิ อันเป็นแหล่งผลิตของนาฬิการุ่นนี้ เพื่อสื่อถึงสีเขียวของใบไม้บนลำต้นสีขาวผ่านการสลักลายอย่างละเอียดด้วยเครื่องจักรซึ่งทำให้ปรากฎเหลือบแสงสีขาวบนผิวหน้าสีเขียวเมื่อกระทบกับแสง
SBGX เครื่องควอตซ์ 9F61
นาฬิกาซีรี่ส์ SBGX รุ่นใหม่ที่มาพร้อมคุณสมบัติการต้านทานสนามแม่เหล็กได้สูงถึงระดับ 40,000 แอมแปร์/เมตร เปิดตัวออกมา 2 แบบ คือ SBGX341 หน้าปัดสีขาว และ SBGX343 หน้าปัดสีดำ โดยทั้งสองมีจุดเด่นอีกประการหนึ่งก็คือ การใช้สารเรืองแสงร่วมกันถึง 2 สีเป็นครั้งแรกของนาฬิกา Grand Seiko โดยเป็นสีฟ้ากับสีเขียว
SBGY เครื่อง Spring Drive ชนิดขึ้นลานด้วยมือ 9R31
SBGY005 รุ่นนี้ถูกสร้างให้เป็นนาฬิการุ่นพิเศษผลิตจำนวนจำกัดสำหรับห้าง ทาคาชิมายา โอซาก้า ด้วยจำนวนการผลิตแค่ 22 เรือน ความพิเศษของรุ่นนี้คือหน้าปัดสีขาวโพลนที่อยู่บนผิวตกแต่งดุจกำแพงน้ำแข็ง และมอบความเกลี้ยงเกลาด้วยการใช้เครื่อง Spring Drive ขึ้นลานด้วยมือ Cal.9R31 ซึ่งมาพร้อมฟังก์ชั่นแสดงระดับพลังงานสำรองบนฝั่งด้านหลังของเครื่อง
SBGZ เครื่อง Spring Drive ชนิดขึ้นลานด้วยมือ 9R02
อีกวาระแห่งการฉลองของ Seiko ในปี 2020 ก็คือ การเป็นปีที่คุณคินทาโร ฮัตโตริ ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งบริษัทมีอายุครบ 160 นาฬิกา SBGZ005 จึงถือกำเนิดขึ้นอย่างสมเกียรติในตัวเรือนแพลทินัม 950 ที่บรรจุเครื่อง Spring Drive ชนิดขึ้นลานด้วยมือ สำรองพลังงานได้ 84 ชั่วโมงจากตลับลานระบบสายลานคู่พร้อมเข็มบอกพลังงานสำรองติดตั้งอยู่ด้านหลังเครื่อง อันเป็นคาลิเบรอที่มีความเที่ยงตรงสูงยิ่งด้วยระดับความคลาดเคลื่อนเพียงไม่เกิน 1 วินาที/วัน ซึ่งผลิตขึ้นที่สตูดิโอ ‘Micro Artist’ (ไมโคร อาร์ติสต์) และบ่งบอกด้วยแผ่นป้ายทองสลักชื่อสตูดิโอกำกับไว้บนด้านหลังของเครื่อง บอกเวลาบนหน้าปัดสีขาวเจือเทาที่ตกแต่งให้มีลวดลายเชิงเส้นในรูปแบบสุดซับซ้อนโดยมีแนวเส้นและระดับความลึกที่หลากหลายแผ่รัศมีออกมาจากจุดศูนย์กลางเพื่อแบ่งส่วนพื้นที่ออกเป็น 12 ส่วน และติดตั้งดาว 8 แฉกบนหน้าปัดร่วมกับหลักชั่วโมงและเข็มซึ่งทำจากทองขาว ผลิตจำนวนจำกัดเพียงแค่ 50 เรือนเท่านั้นโดยเพิ่งเริ่มจำหน่ายเมื่อเดือนมกราคม 2021 นี้